วันอังคารที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2551

การประกันคุณภาพกับครูไทย

ปัจจุบันในแวดวงการศึกษา กำลังมีการตื่นตัวอย่างขนานใหญ่ กับการปฏิรูปการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งการปฏิรูปการศึกษาแนวใหม่นี้อาจจะเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าการศึกษาของไทยอย่างขนานใหญ่ในอนาคต องค์การที่รับผิดชอบหลักในการดูแลและคววบคุมการจัดการศึกษาจะมีอยู่เพียงหน่วยงานเดียวคือ กระทรวงศึกษาศาสนาและวัฒนธรรมพร้อมทั้งจะมีการกระจายอำนาจในการจัดการศึกษาไปสู่ท้องถิ่น มหาวิทยาลัยต่างๆ จะออกนอกระบบราชการไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารทรัพยากรและบริหารหลักสูตร ให้สามารถพัฒนาองค์การทางการศึกษาไปสู่ความเป็นเลิศ ในทางวิชาการ แต่ขณะเดียวกันสถานศึกษาต่างๆ เหล่านี้ ก็จะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบคุณภาพอย่างเข้มข้นขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนด


ภายในหน่วยงานของครู มีสถาบันการศึกษาอยู่เป็นจำนวนมาก ที่จัดการศึกษาเฉพาะด้าน การจัดการศึกษาเฉพาะด้านดังกล่าวคงจะหลีกเลี่ยงกระแสของการเปลี่ยนแปลงอันนี้ไปได้ยาก เพราะในมาตรา 21 ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้ระบุว่าหน่วยงานที่จัดการศึกษาอื่นๆ ของรัฐ อาจจัดการศึกษาเฉพาะตามความต้องการ และความชำนาญของหน่วยงานนั้นได้ โดยคำนึงถึงนโยบาย และมาตรฐานการศึกษาของเขาด้วย ต่อไปถ้ามีการจัดอันดับสถาบัน หรือมาตรฐานการผลิตวิศวกร แพทย์ และพยาบาลแล้ว อาจมีคำถามตามมาว่า วิศวกร แพทย์ และพยาบาลที่ผลิตโดยสถาบันการศึกษาของไทย มีมาตรฐานมากน้อยแค่ไหน สถาบันเหล่านี้ ถ้าจัดอันดับแล้ว มีมาตรฐานอยู่ในลำดับที่เท่าใด ของประเทศ นอกจากนี้โรงเรียนต่างๆ ของไทย ที่จัดการศึกษาตามแนวทางราชการนั้น มีมาตรฐานเพียงใด คำถามที่บุคคลทั่วไปถามอยู่บ่อยๆ ก็คือ สถาบันการศึกษาของไทยต่างๆ มักเรียนแล้วไม่มีตก ต้องจบเสมอ ถ้ามาเรียนทุกวัน เรียนเท่าใดก็จบเท่านั้น และที่จบไปนั้นมีคุณภาพเพียงใด (พ.อ.พร ภิเศก การประกันคุณภาพกับการศึกษา หน้า 38 )


จากแนวคิด ในการประกันคุณภาพการศึกษาดังกล่าว โรงเรียนได้ตระหนักถึงมาตรฐานของตนและเริ่มใช้ระบบประกันคุณภาพ เพื่อแสดงให้ประจักษ์ว่าสถาบันศึกษานั้นๆ ได้ปฏิบัติหน้าที่ เป็นประโยชน์ต่อสังคมอยู่ในลำดับที่ดี และมีคุณภาพมากขึ้นต่อไป


กรอบแนวคิด ระบบประกันคุณภาพการศึกษาจะเห็นได้ว่า จะระบบหน่วยย่อยต่างๆ ที่ควบคุมคุณภาพอยู่หลายระบบ แต่ทว่า จะสำเร็จจริงหรือ.....เมื่อครูเรายังติดยึดอยู่กับระบบเดิมๆ ไม่คิดจะพัฒนาตนเองเพียงสนใจแค่ ค่าของคนอยู่ที่เป็นคนของใคร จะมีวันใดบ้างที่ครู.....จะต้องเป็นครูทุกขณะจิต ต้องรู้โลก รู้ชีวิตอย่างแจ่มแจ้ง ต้องมีปฏิญาณโวหารแสดง ต้องเป็นแหล่งก้าวหน้าวิชาการ ต้องสอนคนมากกว่าสอนหนังสือ (เนาวรัตน์ พงศ์ไพบูลย์)


การปฏิรูปการศึกษา เพื่อประกันคุณภาพจะดีเพียงใดก็ตามจะเป็นเสมือนกระดาษที่เขียนโครงการที่สวยหรู แต่เราเป็นครูต้องสมัครใจที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ออกจากระบบอุปถัมภ์ เพื่อเราจะได้อธิบายแก่ผู้เสียภาษี ให้พึงพอใจว่า เราทำงานได้คุ้มกับงบประมาณที่รัฐได้จ่าย เกิดประสิทธิภาพและประเมินผลต่อการศึกษาหรือต่อ ผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง





ครูเป็นที่รัก - เคารพยกย่อง


ครูจะต้องตระหนักในศักดิ์ศรี


มีหลักการเหตุผลกลวิธี


ครูต้องมีความอดทนสร้างผลงาน


ครูต้องมีทั้งความดีและความเก่ง


ครูต้องเคร่งจริยะมาตรฐาน


เป็นประทีปเจิดจรัสชัชวาล


ส่องนำจิตวิญญาณของปวงชน


(เนาวรัตน์ พงศ์ไพบูลย์)











บรรณานุกรม


ปราโมทย์ ทองกระจาย," วิกฤตอุดมศึกษา:ระบบที่ขาด(การตรวจสอบ)คุณภาพ " วารสารส่งเสริมประสิทธิภาพการเรียนการสอน, ปีที่ 6 ฉบับที่ 1,กันยายน - ธันวาคม 2540 .


สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติสำนักนายกรัฐมนตรี, พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542, กรุงเทพมหานคร:พริกหวาน กราฟฟิก, 2542 .


พ.อ. พร พิเศก, การประกันคุณภาพทางการศึกษากองทัพบกต้องพิจารณา, วารสารเสนาธิปัตย์, ปีที่ 49 ฉบับที่ 2 พฤษภาคม - สิงหาคม 2543 .





ไม่มีความคิดเห็น: